ประวัติวัดเจ้าเจ็ด และประวัติวัดบ้านปลายนาแยกจากกันมิได้ โดยเหตุการณ์หลายประการตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หากว่าเราถามคริสตังที่อาวุโสที่สุดในปัจจุบัน ทั้งในเขตวัดเจ้าเจ็ดและในเขตวัดบ้านปลายนาหรือบ้านแพนก็ตาม หรือถามพระสงฆ์องค์ใดที่อาวุโสที่สุดทั้งในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และสังฆมณฑลจันทบุรีก็ตามว่าในสองวัดนี้คือ วัด บ้านปลายนา และวัดเจ้าเจ็ดนั้น วัดไหนสร้างก่อน วัดไหนเป็นลูกหรือเป็นสาขา ทุกๆ คนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าวัดบ้านปลายนาสร้างก่อนแน่นอนและวัดเจ้าเจ็ดสร้างทีหลังแน่เป็นสาขาของวัดบ้านปลายนา

             การที่คนส่วนใหญ่ตอบเช่นนี้ ก็เนื่องจากว่าผู้อาวุโสในปัจจุบันคงจำได้ว่า เมื่อท่านยังเด็กอยู่คุณพ่อเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดบ้านปลายนา และมีพ่อปลัดผู้ช่วยผลัดกันไปทำมิสซา โปรดศีลที่วัดเจ้าเจ็ดเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ หรือทุกสองอาทิตย์ ความทรงจำของท่านก็แม่นยำ แต่จากหลักฐานบัญชี ศีลล้างบาปของวัดเจ้าเจ็ดและหลักฐานจากรายงานประจำปีของปี ค.ศ.1874 ของมิสซังกรุงเทพฯ ได้กล่าวถึงการสร้างวัดหลังแรกที่เจ้าเจ็ดเมื่อปี ค.ศ.1874 โดยคุณพ่อแปร์โร เจ้าอาวาสวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา และรายงานประจำปีของปี ค.ศ.1909 ของมิสซังกรุงเทพฯ กล่าวถึงการสร้างวัดแรกที่บ้านปลายนา เมื่อปี ค.ศ.1909 โดยคุณพ่อดาวิด เจ้าอาวาสวัดเกาะใหญ่ วัดเจ้าเจ็ด และวัดอยุธยา วัดบ้านปลายนาถูกสร้าง 35 ปี ภายหลังวัดเจ้าเจ็ด

คริสตังวัดเจ้าเจ็ดมาจากไหน เมื่อไร ?
           คริสตังญวนที่ได้หนีการเบียดเบียนศานาของพระเจ้ามินหม่าง โดยขอลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย พร้อมกับกองทัพไทย ซึ่งมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่นับถือคริสตศาสนาอยู่ 2 คน คือ พระยาวิเศษสงครามภักดี (แก้ว) และพระยาณรงค์ ฤทธิโกษา ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ได้ส่งไปช่วยเขมรรบกับญวน พระยา 2 คนนี้ต้องการให้มีบาทหลวงองค์หนึ่งติดตามไปด้วย จึงไปขอแก่พระสังฆราชฟลอรังส์ ประมุขมิสซังสยามในเวลานั้น ท่านได้ให้คุณพ่อเกลมังโซ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ ไปกับกองทัพเรือด้วย คริสตังญวนที่หลบซ่อนตัวอยู่ในป่าเพื่อหนีการเบียดเบียน เมื่อเห็นว่ากองทัพไทยมีพระสงฆ์มาด้วย จึงเข้ามาขอความคุ้มครองและขอเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทย เมื่อพวกเขามาถึงกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ.1834 พระยาณรงค์ ฤทธิโกษา และพระยาวิเศษสงคราม จึงถือโอกาสขอคริสตังญวนเหล่านี้ไปชุบเลี้ยง โดยเห็นว่าเป็นคาทอลิกเหมือนกัน พระบาทสมเด็จ  พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานที่ดิน เพื่อเป็นที่พักอาศัยของบรรดาคริสตังญวน เป็นที่สร้างวัด บ้านพักพระสงฆ์ บ้านภคีนี โรงเรียน หรือกิจการคาทอลิกใด ๆ และสุสานเป็นส่วนรวม ที่ดินผืนนี้มีชื่อเรียกว่า  “ค่ายเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์”
             ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวทรงถามพระยาณรงค์ ฤทธิโกษา  และพระยาวิเศษสงคราม ถึงอาชีพของคริสตังญวนเหล่านี้ ท่านพระยาทั้งสองก็ได้กราบทูลว่า พวกญวนเคยทำนา พระองค์จึงทรงพระราชทานที่ดินตำบลดอนเมือง พร้อมด้วยสัตว์พาหนะ และเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ ในการทำนาให้แก่พวกเขา ความจริงคริสตังเหล่านี้ส่วนมากไม่เคยทำนา พระยาวิเศษสงครามกับพระยาณรงค์ ฤทธิโกษา จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลว่า คริสตังญวนได้กลับมาอยู่ตำบลสามเสนหมดตามเดิม โดยที่ทรงพระกรุณาเป็นพิเศษแก่บรรดาคริสตังญวน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าอนุญาตให้คริสตังญวนทำการเลี้ยงชีพได้ตามสมัครใจ และยกเว้นส่วยภาษีอากรให้ทุกอย่าง
             พระสังฆราชกูรเวอซี ได้เขียนจดหมายรายงานถึงกรุงปารีส “ในสองสามปีแรก คริสตังญวนเหล่านี้ต้องลำบากมากทีเดียว การทำมาหากินและการติดต่อกับคนไทย ย่อมเป็นการลำบากอยู่ตามธรรมดา แต่เขาก็เป็นคนขยันมาก บ้างก็ไปตีอวน ปิดคลองจับปลา เป็นช่างไม้รับจ้างต่อเรือ ปลูกบ้าน ฯลฯ แล้วแต่ใครจะชำนาญอาชีพอย่างหนึ่งอย่างใด บัดนี้เขาก็สบายดีขึ้นมากแล้ว”

             ค่ายเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์เริ่มคับแคบไปและที่ทำกินก็หายาก ชาวญวนส่วนมากชอบการประมง ดังนั้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1840 หลังจากที่ได้ทรงอนุญาตแล้ว พวกเขาพยายามหาที่ที่เหมาะสม ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำหรือริมคลอง เพื่อที่จะย้ายไปตั้งภูมิลำเนาใหม่ในอนาคต พวกเขาอพยพไปเป็นกลุ่มน้อยๆ ก่อน และเมื่อพบแหล่งที่มีปลามากเป็นครั้งคราว ก็จะมีคนหนึ่งรีบไปบอกเพื่อนที่สามเสน พวกเขาเหล่านั้นจัดแจงทันทีที ทิ้งบ้านช่องให้คนชราดูแลพวกเด็ก และพวกเขาก็ช่วยกันเอาอุปกรณ์ประมงไปจับปลา เมื่อได้แล้วก็กลับสามเสน มีปลารับประทาน มีปลาขาย มีเงินใช้ระยะหนึ่ง

การย้ายครอบครัวไปอยู่อย่างถาวรที่เจ้าเจ็ด
           บางคนเริ่มย้ายครอบครัวตั้งแต่แรก เช่น ไปรวมกลุ่มที่อยุธยากับบรรดาคริสตังที่อยู่ภายใต้การดูแลของคุณพ่ออัลแบรต์พระสงฆ์ไทย บางคนไปถึงเจ้าเจ็ด เมื่อเห็นเป็นทำเลดี น่าจะประกอบอาชีพเป็นปึกแผ่นมั่นคง ก็ไปเชิญพรรคพวกจากสามเสน ย้ายครอบครัวมารวมเป็นกลุ่มอยู่ที่เจ้าเจ็ด แต่ที่นั้นยังไม่มีวัด ยังไม่มีพระสงฆ์ไปดูแล มีครอบครัว 2-3 ครบครัวเท่านั้น เมื่อถึงวันฉลองใหญ่ก็จะลงไปร่วมฉลองที่วัดสามเสน ในกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ.1850  มีคริสตังถึง 100 กว่าคน และมีทีท่าว่าจะมีครอบครัวใหม่ย้ายเข้ามารวมกลุ่มอีกหลายครอบครัว

           ในขณะเดียวกันก็มีบางคนไปสำรวจดูทางบ้านปลายนา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเจ้าเจ็ด เมื่อเห็นว่าเป็นทำเลที่ดีเหมือนกัน ลำคลองใหญ่ คลองซอยก็มีปลาชุม และนอกนั้นก็เป็นทำเลกว้างใหญ่ สามารถทำนาได้ด้วย จึงไปชักชวนครอบครัวคริสตังจากสามเสนย้ายไปบ้านปลายนาบ้าง มีครอบครัวย้ายไปเรื่อยๆ จนมีคริสตังไปประกอบอาชีพที่นั่นมากกว่าที่เจ้าเจ็ดเสียอีก แต่เสียดายที่พวกเขาไม่ได้ปลูกบ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม อยู่กระจัดกระจายห่างกันไปตามคลองตามทุ่งนา มีอีกพวกหนึ่งไปตั้งกลุ่มใหม่ริมแม่น้ำ ที่เกาะใหญ่

คุณพ่อยิบาร์ตา จากวัดสามเสนลงเรือขึ้นไปอภิบาลเป็นครั้งคราว
             ปี ค.ศ. 1853 คุณพ่อยิบาร์ตาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสามเสน คุณพ่อมีความกระตือรือร้นคิดถึงคริสตังที่ได้ย้ายไปทำมาหากินในทำเลห่างวัด แต่ถึงแม้ว่าคุณพ่อจะมีงานมากอยู่ที่สามเสน และกำลังจะสร้างวัดเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์หลังใหม่ด้วยก็ตาม คุณพ่อก็หมั่นไปเยี่ยมครอบครัวคริสตังและกลุ่มใหม่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ริมคลอง หาปลา คุณพ่อเตือนสั่งสอน ทำมิสซา โปรดศีล และจดบันทึกไว้ในบัญชีของวัดสามเสน วันฉลองใหญ่มีคริสตังบางคนไปร่วมศาสนพิธีที่สามเสนบ้าง ที่วัดอยุธยาบ้าง
วัดเจ้าเจ็ดขึ้นกับวัดอยุธยา
           ปีค.ศ.1871 คุณพ่อยิบาร์ตาจำเป็นต้องไปพักรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นคุณพ่อแปร์โรซ์ เจ้าอาวาสวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา จึงเป็นผู้ดูแลคริสตังเหล่านั้นแทน
           คุณพ่อแปร์โรซ์สร้างวัดหลังแรกที่เจ้าเจ็ด ปี ค.ศ. 1874
           คุณพ่อเรอเน นิโกลาส แปร์โรซ์ เจ้าอาวาสองค์แรก ปี ค.ศ.1874-1893
           เมื่อคุณพ่อแปร์โรซ์ เป็นผู้ดูแลบรรดาคริสตังญวนที่ทำมาหากินแถวเจ้าเจ็ด และบ้านปลายนา และมีกลุ่มคริสตังเล็กๆ กลุ่มหนึ่งย้ายไปอยู่ที่บ้านขนมจีนในบริเวณนั้นอีกด้วย ท่านก็ไปเยี่ยมคริสตังเหล่านั้นด้วยตนเองบ้าง ส่งคุณพ่อปลัดผู้ช่วยไปบ้างคุณพ่อเห็นว่าจำนวนคริสตังมีมากแล้ว แต่ยังไม่มีวัดเลย ทำให้ทั้งคริสตังและพระสงฆ์ต้องลำบากในการร่วมมิสซา
           คุณพ่อแปร์โรซ์ สังเกตว่าที่เจ้าเจ็ด คริสตังรวมเป็นกลุ่ม สะดวกแก่การก่อสร้างและดูแลวัด ส่วนบ้านปลายนา คริสตังมีมากกว่าก็จริง แต่อยู่ห่างไกลกัน กระจัดกระจายเป็นสิบกว่ากลุ่ม อยู่ตามริมคลองบ้าง ตามทุ่งนาบ้าง จนไม่สามารถจัดเป็นกลุ่มเดียวกันได้ คุณพ่อจึงตัดสินใจสร้างวัดแม่ให้เขา ท่ามกลางกลุ่มคริสตชนเจ้าเจ็ด ซึ่งสร้างเสร็จในปี ค.ศ.1874 และตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดนักบุญยวง บัปติสตา” รายงาน ค.ศ.1874 จากอยุธยา พระสงฆ์ไปอยู่หลายวันได้สบาย และจากเจ้าเจ็ดก็สามารถไปเยี่ยมคริสตังบ้านปลายนาได้สะดวก ส่วนคริสตังบ้านปลายนาก็ไม่ยากเท่าไหร่ที่จะไปร่วมพิธีบ่อยๆ ที่วัดนักบุญยวงบัปติสตา เจ้าเจ็ด
           การโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ได้จดบันทึกไว้ในบัญชีของวัดอยุธยาจนถึงปี ค.ศ.1893
           คุณพ่อปลัดผู้ช่วยที่เคยไปพักผ่อนอยู่ที่วัดเจ้าเจ็ดเป็นครั้งคราว และเคยไปเยี่ยมคริสตังบ้านปลายนา มี 2 องค์ คือ คุณพ่อฟิลลิป (ปีค.ศ. 1874-1884) และคุณพ่อมิแชล โทว (ปี ค.ศ.1884-1893)
สมัยปกครองตนเอง
           คุณพ่อมิแชล โทวเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ในปี ค.ศ.1893-1907
           ปี ค.ศ.1893 คุณพ่อแปรฺ์โรซ์ถูกย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส และคุณพ่อมิแชลได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ด คุณพ่อเป็นพระสงฆ์ไทยอาวุโส
           คุณพ่อมิแชล โทว เปิดบัญชีศีลล้างบาปของวัดเจ้าเจ็ดตั้งแต่ปี ค.ศ.1893 เป็นต้นไป เพื่อความสะดวกในการอภิบาลบรรดาคริสตังที่กระจัดกระจายไปอยู่ที่บ้านปลายนานั้น คุณพ่อมิแชลจึงซื้อที่ดินแปลงหนึ่งอยู่กลางหมู่บ้านของคริสตังเหล่านั้นในปี ค.ศ.1906 ตั้งใจจะสร้างวัดและบ้านพักพระสงฆ์ที่นั่นเอง เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างเจ้าเจ็ดและบ้านปลายนา
คุณพ่อก๊าซต็อง ดาวิด
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ในปี ค.ศ. 1907-1910
พระสังฆราชแปร์รอส ได้แต่งตั้งคุณพ่อดาวิดเป็นเจ้าอาวาสวัดอยุธยา เกาะใหญ่ เจ้าเจ็ดและให้ดูแลคริสตังบ้านขนมจีน และบ้านปลายนาด้วย
           ในรายงานประจำปี ค.ศ.1909 พระสังฆราชแปร์รอสบันทึกไว้ว่า คุณพ่อดาวิดเป็นผู้ดูแลกลุ่มคริสตชนที่เกาะใหญ่ ขณะเดียวกันก็ดูแลคริสตังญวนที่มีอาชีพหาปลาและอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอยุธยาด้วย จึงมีคริสตังที่จะต้องดูแลรวมกันมากกว่า 1,000 คน วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1909 คุณพ่อมีความยินดีในการประกอบพิธีเสกวัดใหม่ให้กับคริสตังกลุ่มเล็กๆ ที่บ้านปลายนา ที่สำเร็จลงได้เช่นนี้ ส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากการบริจาคของคริสตังที่มีอาชีพหาปลา เพราะในปีหลังๆ คริสตังญวนที่มีอาชีพหาปลามีรายได้มาก จึงได้ร่วมใจกันบริจาคทรัพย์สำหรับการสร้างวัดดังกล่าว ผู้ใหญ่ บ้านเป็นคริสตังที่ดี มีความศรัทธา ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งด้วยเงินของตนเองถวายให้คุณพ่อมิแชล สำหรับสร้างวัด(ในปี ค.ศ.1906)และได้ถวายเงินจำนวนมากกว่าทุกๆ คนในการจัดหาอุปกรณ์ก่อสร้าง
สมัยขึ้นกับวัดบ้านปลายนา
           พระสังฆราชแปร์รอสต้องการให้บ้านปลายนากลายเป็นศูนย์กลางแทน ในรายงานประจำปี ค.ศ.1910 พระสังฆราชไม่ออกชื่อวัดเจ้าเจ็ดเลย แต่บันทึกไว้ว่า โดยไม่ต้องกล่าวถึงครอบครัวที่ไปตั้งหลักในที่ต่างๆ กัน จะกล่าวถึงแต่กลุ่มที่อพยพไปทางตะวันตกของอยุธยาก่อน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคริสตชนใหม่ที่บ้านปลายนา ซึ่งขณะนี้มีคริสตังเกือบ 1,000 คน อยู่กันตามหมู่บ้านหลายแห่ง ในที่ราบซึ่งอยู่ทางเหนือของอยุธยาไปจนถึงบ้านแพนก็มีหลายครอบครัวแยกย้ายกันอยู่ พวกเขามีอาชีพ จับปลาที่มีอยู่อย่างอุดมในดินแดนแถบนี้ จำเป็นต้องมีมิชชันนารีไปจับปลาบ้าง เพราะการเหวี่ยงแหที่นี่จะได้ผลมากทีเดียวสำหรับสาวกที่ออกช่วยวิญญาณผู้อื่น เนื่องจากเด็กๆ เติบโตขึ้นโดยมิได้รับการอบรมสั่งสอนแบบคริสตัง เด็กหนุ่มสาวก็ปล่อยตัว แม้แต่พวกคริสตังเดิมก็ไม่ไปแก้บาปรับศีลกัน เนื่องจากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แปลกไปจากเดิม ดังนั้น จึงมีงานที่จะต้องทำอีกมาก จำต้องออกเยี่ยมไปทุกทิศและทุกปี เพื่อนำแกะที่กระจัดกระจายกันกลับมาและบำบัดรักษา แต่ใครจะช่วยสอนคริสตังในกลุ่มคริสตชนหลัก และเตรียมเด็กรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ รวมทั้งอบรมให้กล้าแข็งต่อการประจญล่อลวงและการฝึกฝนในอนาคตเล่า !
           คำสั่งของพระสังฆราช หลังจากคุณพ่อดาวิดเจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ดได้สร้างวัดนักบุญยวง บัปติสตาถูกตัดศีรษะที่บ้านปลายนาแล้ว อีกหนึ่งปีต่อมาคือในปี ค.ศ.1910 พระสังฆราชแปร์รอส ได้ให้  คุณพ่อดาวิดเป็นเจ้าอาวาสดูแลวัดเกาะใหญ่เพียงแห่งเดียว แล้วย้ายคุณพ่อบรัวซาต์ปลัดวัดอยุธยาไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปลายนา ให้วัดบ้านปลายนาเป็นศูนย์กลาง ส่วนวัดเจ้าเจ็ดซึ่งมีคริสตังจำนวนน้อยกว่าให้เป็นสาขาของวัดบ้านปลายนา ดังนั้นคุณพ่อบรัวซาต์จึงเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ดด้วย
คุณพ่อยอแซฟ บรัวซาต์
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 4  ในปี ค.ศ.1911-1914
           โดยมีคุณพ่ออันตนเป็นปลัดผู้ช่วย บัญชีของวัดนักบุญยวงบัปติสตา เจ้าเจ็ด เราทราบแล้วว่าการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ที่กลุ่มคริสตชนเจ้าเจ็ด ในตอนแรกจนถึง ปี ค.ศ. 1869-1870  นั้น  คุณพ่อยิบาร์ตา จดบันทึกรวมไว้ในบัญชีของวัดสามเสน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1869-1893 คุณพ่อแปร์โรซ์ได้จดรวมไว้ในบัญชีของวัดอยุธยา
           ในปี ค.ศ.1893 คุณพ่อมิแชล โทว เปิดบัญชีศีลศักดิ์สิทธิ์ของวัดเจ้าเจ็ดต่างหาก และคุณพ่อดาวิดก็ยังใช้บัญชีเดียวกันนี้จนถึงปี ค.ศ. 1910 ตั้งแต่ปี ค.ศ.1911 คุณพ่อบรัวซาต์ปิดบัญชีของวัดเจ้าเจ็ด และจดรวมในบัญชีของวัดบ้านปลายนา
           คุณพ่อบรัวซาต์ได้เอาใจใส่คริสตังวัดเจ้าเจ็ดเป็นอย่างดี โดยเฉพาะบรรดาเยาวชน คุณพ่อไปวัดเจ้าเจ็ดทุกๆ วันอาทิตย์ ทำมิสซา สอนคำสอนให้เด็กและผู้ใหญ่ เตรียมเด็กรับศีลมหาสนิทและศีลกำลัง ได้มีการเชิญพระสังฆราชแปร์รอส มาโปรดศีลกำลังเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ.1911  ท่านไปเยี่ยมเยือนคริสตังทุกๆ บ้าน ในสมัยนั้น การทำมาหากินลำบากมาก ปลาในคลองก็หายาก ข้าวก็ไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากฝนแล้ง และยังเกิดอหิวาต์ระบาดอีกด้วย เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 คุณพ่อต้องเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1914
คุณพ่ออันตน โตอัน (ตาล โชติผล)
         ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 5 ในปี ค.ศ.1914-1917
คุณพ่ออาแล็กซิส กิม
         ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 6 ในปี ค.ศ.1918-1919
คุณพ่อมารี ยอแซฟ ปีแอร์ ชารส์ แบส์แรสต์
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ในปี ค.ศ. 1919-1925

1. คุณพ่อซีมอน เป็นปลัดผู้ช่วย ในปี ค.ศ. 1919-1921
           จากวัดบ้านปลายนา คุณพ่อแบส์แรสต์ได้ให้คุณพ่อซีมอนไปดูแลวัดเจ้าเจ็ด บางครั้งก็ผลัดกันไป ต่อมาเมื่อคุณพ่อตัดสินใจสร้างวัดที่หน้าโคก ในปี ค.ศ.1920  ก็ได้ให้คุณพ่อซีมอนไปดูแลการก่อสร้าง และทั้งสองผลัดกันไปดูแลทั้ง 3 วัด
2. คุณพ่อเซแลสแตง  เป็นปลัดผู้ช่วย ในปี ค.ศ.1922
3. คุณพ่อเรมองค์ เป็นปลัดผู้ช่วย ในปี ค.ศ.1923
4. คุณพ่อวันแดมเปตรี เป็นปลัดผู้ช่วยในปี ค.ศ.1924-1925

           คุณพ่อแบส์แรสต์ ไม่แข็งแรง สุขภาพไม่ดี สิ้นเดือนกันยายน ในปี ค.ศ.1925  คุณพ่อได้กลับไปรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส อันเป็นบ้านเกิดของคุณพ่อ แต่รักษาไม่หาย และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
คุณพ่อก๊าซต็อง กาบรีเอล ชารล์ส วันแดมเปตรี
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 8 ในปี ค.ศ. 1925-1926
           เมื่อคุณพ่อคุณพ่อแบส์แรสต์เสียชีวิตไปแล้ว คุณพ่อวันแดมเปตรีได้เป็นเจ้าอาวาสแทน แม้สุขภาพของคุณพ่อไม่ดี คุณพ่อก็พยายามทำงานตลอด ไม่ยอมหยุดพักผ่อน ไม่ยอมรักษาตัว พระสังฆ ราชแปร์รอสจึงสั่งให้คุณพ่อบรัวซาต์ย้ายจากวัดสามเสนปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ.1926 เพื่อไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบ้านปลายนา เพื่อแบ่งเบาภาระของคุณพ่อวันแดมเปตรี
คุณพ่อยอแซฟ บรัวซาต์
         ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 9  (ครั้งที่สอง) ในปี ค.ศ. 1926-1940
           1. คุณพ่อวันแดมเปตรี เป็นปลัดผู้ช่วยในปี ค.ศ.1926-1927  เดือนเมษายน ค.ศ.1927  คุณพ่อ ต้องเข้าโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ สุขภาพของคุณพ่อทรุดโทรมเรื่อยๆ แต่คุณพ่อก็เฉยๆ ไม่กินยา นึกว่าไม่เป็นอะไร คุณพ่อรู้สึกแปลกใจมากเมื่อพระสังฆราชแปร์รอสเตือนให้รับศีล เจิมคนไข้ คุณพ่อจึงรู้สึกตัว ขอรับศีลเจิมคนไข้ และตั้งใจจะรักษาตัวจริงๆ แต่ก็สายเกินไป คุณพ่อได้สิ้นใจวันที่ 10 กันยายน ค.ศ.1927
           2. คุณพ่ออัมบรอซิโอ กิ๊น มิลลุกูล เป็นปลัดผู้ช่วย ในปี ค.ศ.1927 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1930
           3. คุณพ่ออัลฟองซ์ เป็นปลัดผู้ช่วยในปี ค.ศ.1928 ถึง 28 มกราคม ค.ศ.1930
           4. คุณพ่อเอากุสติโน เป็นปลัดผู้ช่วยในปี ค.ศ.1930 -1940
           5. คุณพ่อนอร์แบรต์  เป็นปลัดผู้ช่วย (ชั่วคราว) พฤษภาคม-ตุลาคม ค.ศ.1932
           6. คุณพ่อเซแลสแตง เป็นปลัดผู้ช่วยเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1934 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ.1935
           7. คุณพ่อยอแซฟ บรัวซาต์ สร้างวัดใหม่ที่เจ้าเจ็ด

คุณพ่อเอากุสติโน สำอาง ดำรงธรรม
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 10 ในปี ค.ศ. 1940-1942
           คุณพ่อบรัวซาต์ต้องจากวัดบ้านปลายนา เนื่องจากสงครามอินโดจีน คุณพ่อเอากุสติโนจึงเป็นเจ้าอาวาสแทน ปกครองวัดบ้านปลายนา และวัดเจ้าเจ็ด และวัดหน้าโคก โดยมีพระสงฆ์ผู้ช่วยเจ้าอาวาสสำหรับวัดเจ้าเจ็ด คือ
           1. คุณพ่ออัมบรอซิโอ กิ๊น มิลลุกูล เป็นปลัดผู้ช่วยในเดือนกรกฎาคมค.ศ.1926 ถึงเดือนมกราคมค.ศ.1942
           2. คุณพ่อกัสต็อง เป็นปลัดผู้ช่วยในเดือนกันยายน - ธันวาคม ค.ศ.1942
           เมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน รัฐบาลในสมัยนั้น คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการให้คริสตังละทิ้งศาสนา และเข้าถือศาสนาพุทธ ให้มีแต่ศาสนาเดียว การเบียดเบียนศาสนานี้ดำเนินไปทั่วประเทศ บางแห่งรุนแรงมากถึงกับมีการทำลายวัด เผาวัด ที่เจ้าเจ็ดนี้มีคริสตังคนหนึ่ง มีชื่อเสียงทั่วอำเภอ เป็นเจ้าของโรงสีใหญ่ เนื่องจากต้องมีการติดต่อกับหลายๆ หมู่บ้านริมแม่น้ำลำคลอง ทำให้เขามีธุระมาก ไม่มีเวลาไปวัดบ่อยนัก นอกจากวันฉลองวัด แต่บรรดาคริสตังก็นับถือเขา เพราะเขาเป็นคนใจบุญ
           ส่วนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็นึกในใจว่า ถ้าคนๆ นี้มานับถือศาสนาพุทธแล้ว คนอื่นก็จะตามมาด้วย ซึ่งคงจะเป็นเรื่องง่ายๆ ดังนั้น ในวันกำหนดเพื่อทำพิธีละทิ้งศาสนาคริสต์ เจ้าหน้าที่อำเภอได้เรียกประชุมบรรดาคริสตัง แล้วกล่าวเตือนทุกคนให้ละทิ้งศาสนาฝรั่ง มาถือศาสนาของคนไทย แล้วได้เรียกเจ้าของโรงสีดังกล่าวมายืนข้างหน้า ให้เขาละทิ้งศาสนาคริสต์เป็นคนแรก เขาก็เดินมาข้างหน้าแล้วค่อยๆ หันมามองเพื่อนคริสตังด้วยกัน ซึ่งจ้องมองเขาอยู่ ต่อจากนั้นเขาก็กันหาเจ้าหน้าที่อำเภอ และในท่ามกลางความเงียบสงัด เขาก็พูดด้วยเสียงอันหนักแน่นว่า
           ผมเป็นคริสตังไม่ดีก็จริง แต่ผมเป็นคริสตัง จะคงเป็นคริสตัง และจะตายเป็นคริสตัง (ดูรายงานประจำปีของมิสซัง ปี ค.ศ.1941-1947) คำตอบนี้แหละ ที่ได้ให้กำลังใจแก่บรรดาคริสตังวัดเจ้าเจ็ด และวัดอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง และเป็นเกียรติแก่นายทรัพย์ ธาราฉัตร ต่อหน้าพระเป็นเจ้า และต่อหน้ามนุษย์

คุณพ่อยอแซฟ บรัวซาต์
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 11 (ครั้งที่สาม) ในปี ค.ศ.1942-1953
         เมื่อคุณพ่อบรัวซาต์กลับมาจากอินโดจีนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1942 นั้น คุณพ่อพักอยู่ที่สำนักอัสสัมชัญระยะหนึ่ง แล้วจึงไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปลายนา วัดเจ้าเจ็ด และวัดหน้าโคก
           คุณพ่อเอากุสตินโนย้ายไปในเดือนมีนาคม ค.ศ.1942 ยังมีคุณพ่อกัสต็องมาช่วย แต่คุณพ่อไปๆ มาๆ ระหว่างวัดเจ้าเจ็ด (เดือนกันยายน-เดือนธันวาคม ค.ศ.1942) และวัดหน้าโคก (เดือนกันยายน ค.ศ.1942- 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1943) แล้วย้ายไป จำเป็นต้องหาพ่อปลัดใหม่ พอดีคุณพ่อโรเชอโรลงมาจากเมืองพาน จึงได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดผู้ช่วยคุณพ่อบรัวซาต์

คุณพ่อเลโอนาร์ด เดอ เยซู
             ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 13 ในปี ค.ศ. 1963-1965
คุณพ่อเลโอนาร์ด ได้ดูแลทั้งสองวัด คือวัดเจ้าเจ็ด และวัดบ้านปลายนา โดยไม่มีพระสงฆ์ผู้ช่วย และในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1965 พระสังฆราชโชแรงได้ประกาศให้วัดเจ้าเจ็ดไม่ต้องเป็นสาขาของวัดบ้านปลายนาอีกต่อไป ให้ปกครองตนเอง และคุณพ่อปอล ยือแบง เป็นเจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ดอย่างเป็นทางการ

คุณพ่อปอล ยือแบง
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 14 ในปี ค.ศ. 1965-1976
           พระสังฆราชได้ให้คุณพ่อยือแบงย้ายจากวัดบ้านแป้ง มาเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ดตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1965 ในระหว่างที่คุณพ่อยือแบงไปพักผ่อนที่ประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ.1974 - 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1975  คุณพ่อสง่า จันทรสมศักดิ์ พระสงฆ์มิสซังจันทบุรี ได้มารักษาการแทน และเมื่อคุณพ่อยือแบงกลับมา ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1975 นั้น  พระสังฆราชได้ให้คุณพ่ออนันต์ เอี่ยมมโน ไปเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสของคุณพ่อยือแบง ที่วัดเจ้าเจ็ด
           นอกจากการอภิบาลสัตบุรุษเหมือนคุณพ่อเจ้าอาวาสทุกๆ วัดแล้ว คุณพ่อยังได้สร้างความเจริญในด้านอื่นๆ ให้แก่วัดเจ้าเจ็ด อีกหลายด้าน คือ
           1. สร้างโรงเรียนใหม่เป็นตึก 2 ชั้น คุณพ่อยือแบงได้สังเกตว่าอาคารเรียนของโรงเรียน “ประสาทศิลป์”เก่ามาก และทรุดโทรมแล้ว ทั้งๆ ที่จำนวนนักเรียนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณพ่อจึงตัดสินใจสร้างโรงเรียนหลังใหม่ เป็นตึก 2 ชั้นสามารถรับนักเรียนได้ถึงประมาณ 700 คน แต่เนื่องจากว่าที่ดินของวัดเป็นที่ต่ำ น้ำท่วมทุกปี บางปีท่วมสูงถึง 2 เมตร จึงจำเป็นต้องยกพื้นให้สูง 2.50 เมตร คุณพ่อต้องไปเรี่ยไรขอความช่วยเหลือจากคริสตังวัดต่างๆ หลายแห่งของมิสซังกรุงเทพฯ รวบรวมเงินได้ทิ้งสิ้นหนึ่งล้านบาท อาคารเรียนจึงสร้างเสร็จ และมีพิธีเสกวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1970 ในโอกาสฉลองวัดนักบุญ ยวง บัปติสตา
           2. จัดการขอไฟฟ้ามาถึงเขตวัดเจ้าเจ็ด
     ต้นปี ค.ศ.1970  โดยความเห็นชอบและสนับสนุนของคริสตังวัดเจ้าเจ็ดทุกบ้าน คุณพ่อขอให้ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ติดตั้งไฟฟ้าในหมู่บ้านเป็นผลสำเร็จ โดยใช้งบประมาณ 33,000 บาท แบ่งจ่าย 3 งวด ตามสัญญา เสร็จและสามารถใช้ได้ในโอกาสฉลองวัดวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1970
           3. ถมดินสนามหน้าโรงเรียน เนื้อที่ 11 ไร่เศษ ลึก 2.25 เมตร
     เนื่องจากในระหว่างปี ค.ศ.1972-1973 ทางรัฐบาลประกาศว่าจะใช้เรือขุด ขุดแม่น้ำสายที่ผ่านหน้าวัดเจ้าเจ็ดให้ลึกไป 3 เมตร ตลอดทางส่วนกว้างของแม่น้ำ คุณพ่อยือแบงจึงเป็นว่าเป็นโอกาสที่ดีจะถมดินหน้าโรงเรียนได้โดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด เมื่อได้ประชุมหัวหน้าครอบครัวคริสตังแล้ว ทุกคนยินดีสละสิทธิ์ของตน ยินยอมให้ดินที่ขุดมาตรงหมู่บ้านคริสตัง นำไปถมในบริเวณที่ของวัดทั้งหมด แต่ดินที่ขุดได้นั้นปะปนอยู่กับน้ำ เพื่อไม่ให้ดินไหลลงไปทั่ว จำเป็นต้องสร้างเขื่อนกั้นเอาไว้ ดังนั้นจึงได้สั่งหินก้อนใหญ่ๆ หลายๆ ลำเรือเพื่อนำมาสร้างเขื่อนหน้าวัด ใช้แรงงานจากบรรดาคริสตังและช่างช่วยกันสร้าง    การสร้างเขื่อนนี้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่เรือขุด จะขุดมาถึงบริเวณหมู่บ้านคริสตัง ดังนั้นจึงทำให้โรงเรียนประสาทศิลป์มีสนามกว้างใหญ่ น้ำไม่ท่วม ใช้เป็นสนามฟุตบอล ทั้งสำหรับโรงเรียนของเรา และโรงเรียนอื่นๆ ในละแวกนั้นด้วย เพราะในเวลานั้น หมู่บ้านอื่นๆ ตกลงกันไม่ได้ถึงเรื่องดินที่ขุดมาได้ ต่างคนต่างก็ต้องการนำดินมาใส่ไว้ในที่ของตน ค่าใช้จ่ายในการทำเขื่อนและถมดินนั้นคุณพ่อยือแบง หามาได้จากการเรี่ยไรเช่นเคย
         4. สร้างเวที  นอกจากนี้คุณพ่อยังสร้างเวทีหลังหนึ่งข้างโรงเรียน เพื่อใช้ในโอกาสต่างๆ
         ในปี ค.ศ.1967 คุณพ่อยือแบง เดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศฝรั่งเศส คุณพ่ออูรบานีมารักษา การแทน วันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1976  คุณพ่อยือแบงได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าโคก
คุณพ่อมีคาแอล อดุลย์ คูรัตน์
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 15 ในปี ค.ศ.1976-1979
           นอกจากการอภิบาลสัตบุรุษและดูแลโรงเรียนแล้ว คุณพ่อได้สร้างหอประชุม โดยใช้ไม้เก่าที่มีอยู่จากการรื้อโรงเรียนหลังเก่า นอกจากนั้นยังได้ถมดินเพิ่ม เพื่อขยายพื้นที่ให้พ้นจากน้ำท่วม ต้นปี ค.ศ.1979 คุณพ่อสมสุข แดงเดช ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคุณพ่อผู้ช่วยเจ้าอาวาส ในเดือนเมษายน ค.ศ.1979  พระอัครสังฆราช ยวง นิตโย  ได้มีคำสั่งโยกย้ายคุณพ่ออดุลย์ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส
คุณพ่อเปโตร ชวลิต  กิจเจริญ
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 16 ในปี ค.ศ.1979-1983   เนื่องจากในสมัยคุณพ่ออดุลย์ เป็นเจ้าอาวาสนั้น คุณพ่อได้พยายามฟื้นฟูความศรัทธา เอาใจใส่ในการทำมิสซา เอาใจใส่คนเจ็บป่วย และนำสัตบุรุษให้มีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน คุณพ่อชวลิตได้มาสานงานต่อคุณพ่อได้พยายามปลุกเร้าความศรัทธาทั่วๆไป และให้สัตบุรุษมีส่วนรวมในงานของวัดมากขึ้น คุณพ่อได้รวบรวมกลุ่มพลมารีในเขตวัดเจ้าเจ็ดอย่างจริงจัง เพื่อเป็นแกนนำในการไปเยี่ยมคนเจ็บป่วยและคนชรา คุณพ่อได้ถมดิน ปรับปรุงพื้นที่บ้าง เพื่อสานงานต่อจากคุณพ่ออดุลย์ เจ้าอาวาสองค์ก่อน
           ฉลองวัดปีหนึ่งคุณพ่อได้ร่วมมือกับสัตบุรุษในการจัดงานฉลอง ได้เงินทำบุญมากพอสมควร หลังจากงานฉลองวัดผ่านพ้นไปแล้ว เย็นวันนั้นคุณพ่อเข้านอนแต่หัวค่ำ สัตบุรุษกลัวว่าคุณพ่อจะถูกปองร้าย เพราะมีเงินจากงานฉลองวัดพอสมควร เมื่อสัตบุรุษเห็นคุณพ่อเข้านอกแต่หัวค่ำ จึงคิดว่ามีคนร้ายในห้องของคุณพ่อ เพราะเห็นมีรองเท้าถอดอยู่ด้วย จึงพากันมาทั้งหมู่บ้านพร้อมทั้งอาวุธต่างๆ หัวหน้าชาวบ้านได้ตะโกนเรียกคุณพ่อพร้อมทั้งล้อมบ้านคุณพ่อไว้เพื่อหวังจะจับคนร้าย คุณพ่อซึ่งกำลังหลับอยู่ เมื่อได้ยินเสียงจึงออกมาดู และบอกว่าไม่มีอะไร ส่วนชาวบ้านเมื่อตรวจค้นดูจนทั่วแล้วและแน่ใจว่าไม่มีใครอยู่ในบ้านคุณพ่อจึงพากันกลับไป เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจและความห่วงใยที่สัตบุรุษวัดเจ้าเจ็ดมีต่อคุณพ่อเจ้าอาวาสของพวกตน
           คุณพ่อได้ส่งเสริมอาชีพของชาวบ้าน เนื่องจากในสมัยนั้นมีการเจียรนัยพลอยกัน  คุณพ่อจึงพยายามรวบรวมผู้ที่ทำงานด้านนี้ ส่งไปดูงานที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อให้มีประสบการณ์ และความชำนาญยิ่งขึ้นในงานด้านนี้ จึงมีชาวบ้านหันมายึดอาชีพนี้จำนวนหนึ่ง
           นอกจากนี้คุณพ่อยังสนับสนุนการเลี้ยงสุกร โดยใช้พันธุ์เดิม เมื่อถูกพ่อค้ากดราคา คุณพ่อได้พาสัตบุรุษไปดูวิธีการเลี้ยงสมัยใหม่ ได้ติดต่อหาพ่อค้าที่ให้ราคายุติธรรม เพื่อชาวบ้านจะได้ไม่ต้องถูกกดราคาอีกต่อไป
           สิ่งที่เด่นของสัตบุรุษวัดเจ้าเจ็ด ก็คือ ความศรัทธา ความรัก และความเคารพ ที่พวกเขามีต่อพระสงฆ์เจ้าอาวาส และมีความรักในวัดของตนเอง ยินดีที่จะเสียสละเพื่อวัดทุกอย่างส่วนงานทางด้านโรงเรียนนั้น เมื่อคุณพ่อไปรับหน้าที่ก็เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่พอดี มีเด็กนักเรียนลาออกไปเรียนที่อื่นมาก เหลือนักเรียนทั้งหมด 329 คน ชั้น ม.1- ม.3  เหลืออยู่เพียง 14 คนเท่านั้น  เงินอุดหนุนก็ลดลงด้วย ทำให้กิจการของโรงเรียนขาดทุนประมาณเกือบสองหมื่นบาท
           ดังนั้นคุณพ่อจึงได้นำปัญหานี้ไปอธิบายให้บรรดาครูและสัตบุรุษ ให้ทราบถึงสถานการณ์ของโรงเรียนในเวลานั้น ได้ขอร้องให้บรรดาผู้ปกครองนักเรียนช่วยกันจ่ายค่าเล่าเรียนระหว่างปี เวลาเดียวกันคุณพ่อได้ออกเยี่ยมเยือนชาวบ้านที่ถือศาสนาพุทธเพื่อหาข้อมูลมาปรับปรุงโรงเรียน ทำเช่นนี้ประมาณ 9 เดือน และก่อนปีการศึกษา ได้ให้พวกครูรณรงค์ช่วยกันจัดกิจกรรมต่างๆ ให้คนภายนอกเข้ามา เช่น หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จัดแข่งฟุตบอล เมื่อเปิดปีการศึกษาก็บังเกิดผล มีเด็กนักเรียนใหม่ทั้งระดับอนุบาลและประถมเข้ามาเรียนเพิ่มถึง 200 คน เงินอุดหนุนก็เพิ่มขึ้นด้วย กิจการของโรงเรียนก็ไม่ขาดทุนอีกต่อไป เมื่อโรงเรียนไม่ขาดทุนแล้ว ก็เริ่มทำการปรับปรุงภายในโรงเรียน ปรับปรุงการเรียนการสอน พยายามดึงคนภายนอกเข้ามาสัมผัสกับโรงเรียน จัดงานวันผู้ปกครอง ออกเยี่ยมชาวบ้าน และอื่นๆ จนกระทั่งปีสุดท้ายก่อนที่คุณพ่อจะย้าย มีนักเรียนทั้งหมด 800 คน เมื่อมีปัญหาอะไร คุณพ่อก็จะประกาศในวัดเสมอ เพื่อขอให้สัตบุรุษช่วยกัน ร่วมมือกัน และด้วยความมีน้ำใจของสัตบุรุษทุกคน ก็ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้าน  คำภาวนา ปัญหาทุกอย่างก็คลี่คลายไปได้ด้วยดี คุณพ่อยังได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารโรงเรียน โดยเริ่มมีการแบ่งสายหมวดหมู่วิชาต่างๆ แบ่งการบริหารระดับต่างๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น
 คุณพ่อยอแซฟ กิตติศักดิ์ กาญจนธานินทร์
         ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 17 ในปี ค.ศ. 1983-1989
           คุณพ่อกิตติศักดิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแทนคุณพ่อชวลิต ซึ่งย้ายไปเป็นผู้ช่วยอธิการบ้านเณรยอแซฟ สามพราน  คุณพ่อสังเกตว่าที่สนามเด็กเล่น ซึ่งคุณพ่อยือแบงเอาดินที่ขุดขึ้นมาจากคลองมาถมนั้น ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์อะไร มีแต่หญ้าขึ้นรก จึงได้ตกลงซื้อที่ดินที่ขุดจากท้องนามาถมเพิ่มและต่อเติมหอประชุมเพื่อเป็นห้องเรียนเด็กอนุบาล นอกจากนี้ยังได้รื้อวัดหลังที่คุณพ่อบรัวซาต์สร้าง และได้รื้อบ้านพักพระสงฆ์ บ้านพักซิสเตอร์ด้วย เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการก่อสร้างวัดหลังใหม่ ดังนั้น จึงต้องใช้ส่วนที่ต่อเติมเป็นห้องเรียนอนุบาลนั้น เป็นวัดและบ้านพักพระสงฆ์ชั่วคราว และต่อเติมโรงอาหารของโรงเรียนเป็นบ้านพักซิสเตอร์
คุณพ่อแอนโทนี่ ประยุทธ ชลหาญ
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 18 ในปี ค.ศ.1989-1991
คุณพ่อได้ปรับปรุงพื้นที่เพื่อทำสนามเด็กเล่น และจัดแนวป่าช้าให้สวยงาม
 คุณพ่อยอห์น วิชชุกรณ์ เกตุภาพ
         ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 19 ในปี ค.ศ.1991-1996
           การก่อสร้างวัดตามโครงการได้เริ่มต้นขึ้นในสมัยของคุณพ่อวิชชุกรณ์ นอกจากนี้คุณพ่อยังได้พยายามปรับปรุงการบริหารงานโรงเรียนอย่างเต็มที่ รวมทั้งดูแลเอาใจใส่งานอภิบาล โดยเฉพาะงานด้านเยาวชน
คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ ปรีชา รุจิพงษ์
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 20 ในปี ค.ศ. 1996 - 2002
คุณพ่อเปโตร สมเกียรติ  บุญอนันตบุตร
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 21 ในปี ค.ศ. 2002 – 2007
คุณพ่อเบเนดิก ถนอมศักดิ์ เลื่อนประไพ
           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 22 ในปี ค.ศ. 2007 – ปัจจุบัน
 

ประวัตินักบุญยอห์น | ประวัติวัด | นักบวชลูกวัด | สภาอภิบาล | พลมารี | คูร์ซิลโล | ผู้สูงอายุ | เยาวชน | วิถีคริสตชน | ดาวน์โหลด| ตารางมิสซา | แผนที่เดินทาง | ติดต่อเรา